แชร์

สัญญาประนีประนอมยอมไม่กระทบสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

อัพเดทล่าสุด: 29 พ.ค. 2024
77 ผู้เข้าชม
สัญญาประนีประนอมยอมไม่กระทบสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15209/2558

คำพิพากษาย่อสั้น
      แม้จำเลยกับ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากโจทก์จะตกลงระงับข้อพิพาทต่อกันอันเป็นการประนีประนอมยอมความกัน ทำให้มูลหนี้ระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลยระงับไปก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ส. ทายาทของ ป. ผู้เอาประกันภัยไป โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. และอาจใช้สิทธิในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่มีต่อจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และ 880 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยกับ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทต่อกันในภายหลัง ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ทายาทของ ป. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้กระทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปนั้นได้

คำพิพากษาย่อยาว
     โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 201,254.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 198,000.00 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000.00 บาท

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 198,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3,254.00 บาท) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000.00 บาท

จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วม 4905 กรุงเทพมหานคร จากนายประสาท มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 นายประสาทขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสายรัตนบุรี - สำโรงทาบ จากกิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณมุ่งหน้าไปทางอำเภอรัตนบุรี โดยมีเด็กชายวีรพงษ์ นั่งโดยสารมาด้วย ส่วนจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ - 7738 ศรีสะเกษ ไปตามถนนสายดังกล่าวสวนทางกัน เมื่อถึงที่เกิดเหตุ จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทแซงรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในทางเดินรถของนายประสาทเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันอย่างแรง ทำให้นายประสาทถึงแก่ความตาย ส่วนเด็กชายวีรพงษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายอย่างมากจนไม่สามารถซ่อมได้ ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2551 โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยวิธีคืนทุนประกันให้แก่นางสาวสุภาพรรณ ทายาทของนายประสาทผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 360,000.00 บาท ต่อมาโจทก์ขายซากรถยนต์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 ได้เงิน 195,000.00 บาท พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายประสาทถึงแก่ความตายและเด็กชายวีรพงษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยให้การรับสารภาพ และในวันที่ 28 มีนาคม 2551 จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางสาวสุภาพรรณเป็นเงิน 50,000.00 บาท โดยนางสาวสุภาพรรณไม่ติดใจเรียกร้องหรือดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและอาญาอีกต่อไปตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 433/2551 ของศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่นางสาวสุภาพรรณตกลงกับจำเลยเรื่องค่าเสียหายในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 433/2551 ของศาลชั้นต้น เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลทำให้นางสาวสุภาพรรณซึ่งเป็นทายาทของนายประสาทไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้อีก โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิของนางสาวสุภาพรรณทายาทนายประสาทเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางสาวสุภาพรรณทายาทของนายประสาทผู้เอาประกันภัยก็เป็นการปฏิบัติตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับนายประสาทผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวว่า แม้จำเลยกับนางสาวสุภาพรรณทายาทของนายประสาทผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากโจทก์จะตกลงระงับข้อพิพาทต่อกันอันเป็นการประนีประนอมยอมความกัน ทำให้มูลหนี้ระหว่างนายประสาทผู้ตายกับจำเลยระงับไปก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวสุภาพรรณทายาทของนายประสาทผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 360,000.00 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2551 โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของนางสาวสุภาพรรณทายาทของนายประสาทและอาจใช้สิทธิในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่มีต่อจำเลยผู้กระทำละเมิดได้ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และ 880 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยกับนางสาวสุภาพรรณได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทต่อกันในภายหลัง ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วไม่ ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของนางสาวสุภาพรรณทายาทของนายประสาทจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้กระทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปนั้นได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880

ผู้พิพากษา
ชาญวิทย์ รักษ์กุลชน
เกษม เกษมปัญญา
ประสิทธิ์ สนามชวด

แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ