แชร์

ขับรถทางตรงด้วยความเร็วสูง ชนกับรถที่เลี้ยวขวาตัดหน้า ถือว่าประมาทด้วยกัน 

อัพเดทล่าสุด: 6 มิ.ย. 2024
800 ผู้เข้าชม

ขับรถทางตรงด้วยความเร็วสูง ชนกับรถที่เลี้ยวขวาตัดหน้า ถือว่าประมาทด้วยกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601-1603/2529 

คำพิพากษาย่อสั้น
     อ.และจ.เป็นโจทก์ฟ้อง ว. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว.และ อ. ต่างขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถของทั้งสองฝ่ายชนกัน อ. มีส่วนกระทำผิดอาญาไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องเฉพาะคดีที่ อ.เป็นโจทก์ และลงโทษ ว.ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 ข้อเท็จจริงว่า ว.และ อ. ต่างขับรถประมาทจึงต้องผูกพัน ว. อ. และ จ. ซึ่งเป็นคู่ความในคดีอาญา การที่ศาลวินิจฉัยในคดีแพ่งเรื่องละเมิดว่า ว. ประมาทฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ขับรถมาเร็วเกินกว่า 100 กม.ต่อชั่วโมง แม้จะขับอยู่ในถนนทางตรง ในเส้นทางเดินรถของตน แต่ก็ขับด้วยความเร็วสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและไม่ยอมลดความเร็วลง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุที่มีทางคนเดินเท้าข้ามถนน แม้จะหักหลบไปทางซ้ายมือแล้วก็ไม่พ้น จึงชนกับรถของจำเลยที่ 3 ที่ขับเลี้ยวขวาข้ามถนนเข้าสู่ทางแยกเข้าสโมสร ซึ่งอยู่ในทางเดินของจำเลยที่ 1 โดยเร็ว ไม่หยุดรอให้รถจำเลยที่ 1 ในทางตรงซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือผ่านไปก่อน กลับขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้า ในระยะห่างกันเกินกว่า 15 ม.เล็กน้อย ดังนี้ ความประมาทของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ก่อให้เกิดขึ้นจึงมิได้ยิ่งหย่อนมาก น้อยกว่ากัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความรับผิดในผลแห่งการละเมิด เท่าเทียมกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยมีเงื่อนไขระบุว่า เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เกิดความเสียหายผู้รับประกันภัยมีสิทธิซ่อมเปลี่ยนหรือใช้รถยนต์สภาพเดียวกันนั้น ผู้รับประกันภัยจะต้องเลือกซ่อมโดยช่างซ่อมที่มีฝีมือด้วย การที่ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ให้ซ่อมเพราะยังไม่พอใจว่าช่างซ่อมของผู้รับประกันภัยจะซ่อมรถได้ดีหรือไม่และไม่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยจะไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้รับประกันภัยโดยเด็ดขาด จึงถือไม่ได้ว่าผู้เอาประกันภัยผิดเงื่อนไขในสัญญา การที่ผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่อ้างว่าทำละเมิดนั้น เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัย จะถือว่าผู้เอาประกันภัยสละสิทธิที่จะให้ผู้รับประกันภัยปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ 

คำพิพากษาย่อยาว
     ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 61,175.88 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 31,687.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 (คือโจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีที่สอง) 80,000.00 บาท แก่โจทก์ที่ 3 (คือโจทก์ที่ 2 ในสำนวนคดีที่สอง) 200.00 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 (คือจำเลยในสำนวนคดีที่สาม) ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 (คือโจทก์ในสำนวนคดีที่สาม) 86,000.0 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 สำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองกับจำเลยที่ 2 สำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สองกับจำเลยสำนวนคดีที่สามฎีกา

     ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "นาวาตรีอาทิจจ์ บุญญวิตร (จำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีแรกหรือโจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีที่สอง) และนางจิตรวรรณ บุญญวิตร (โจทก์ที่ 3 ในสำนวนคดีแรกหรือโจทก์ที่ 2 ในสำนวนคดีที่สอง) ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายวิเชียร นิ่มจิระวัฒน์ (จำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่สอง) ต่อศาลแขวงพระนครใต้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390, 90 ศาลแขวงพระนครใต้สั่งรวมพิจารณาพิพากษากับสำนวนคดีที่พนักงานอัยการศาลแขวงพระนครใต้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 67, 152, 157, 187 ผลที่สุด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายวิเชียรและนาวาตรีอาทิจจ์ (จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในสำนวนคดีแรก) ต่างขับรถยนต์โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยกันเป็นเหตุให้รถของทั้งสองฝ่ายชนกัน นาวาตรีอาทิจจ์มีส่วนกระทำผิดอาญาไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องเฉพาะคดีที่นาวาตรีอาทิจจ์เป็นโจทก์และให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 จำคุก 1 เดือนปรับ 1,000.00 บาท โทษจำคุกรอ 1 ปี ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2712-2713/2526 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างขับรถประมาทจึงต้องผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และนางจิตรวรรณ บุญญวิตร ซึ่งเป็นคู่ความในคดีอาญา ในคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมาทฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ฎีกาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
คดีนี้โจทก์ที่ 2 ในสำนวนคดีแรกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเป็นเงิน 30,000.00 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,687.50 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนคดีแรกชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 ฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามฟ้องข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังเป็นยุติ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 คงมีปัญหาว่า โจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีแรกจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีที่สองจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องแย้งในสำนวนคดีที่สองหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 3 ฝ่ายใดประมาทมากน้อยกว่ากัน ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2712-2713/2526 และในคดีนี้ ฟังได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีป้ายเครื่องหมายจราจรจำกัดความเร็วติดตั้งไว้ให้ขับรถด้วยอัตราความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีป้ายเครื่องหมายจราจรให้ลดความเร็วในถนนที่มีทางคนเดินเท้าข้าม จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงโดยขับในอัตราความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถมาถึงที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในถนนที่มีทางคนเดินเท้าข้าม ซึ่งมีป้ายเครื่องหมายจราจรเตือนให้ลดความเร็ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชะลอความเร็วลงและจำเลยที่ 3 ก็ขับรถเลี้ยวขวาข้ามถนนเข้าสู่ทางแยกเข้าราชกรีฑาสโมสรซึ่งอยู่ในทางเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยเร็ว ไม่หยุดรอให้รถจำเลยที่ 1 ในทางตรงซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือผ่านไปก่อน กลับขับรถเลี้ยวขวาออกไปตัดหน้ารถจำเลยที่ 1 ในระยะห่างกันเกินกว่า 15 เมตรเล็กน้อย ขณะนั้นรถจำเลยที่ 1 ได้เบนหักหลบจากช่องทางเดินรถด้านขวามือไปทางซ้ายมือแต่หักหลบไม่พ้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ขับมาเร็วเกินกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะขับอยู่ในถนนทางตรงในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็ขับด้วยความเร็วสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและไม่ยอมลดความเร็วลงเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุที่มีทางคนเดินเท้าข้ามถนน รถของจำเลยที่ 1 จึงชนกับรถของจำเลยที่ 3 ที่ขับเลี้ยวขวาข้ามถนนเข้าสู่ทางแยกเข้าราชกรีฑาสโมสรและรถของจำเลยที่ 1 ได้แฉลบเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย ความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่ก่อให้เกิดขึ้นจึงมิได้ยิ่งหย่อนมากหรือน้อยกว่ากัน จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 มีความรับผิดในผลแห่งการละเมิดเท่าเทียมกันและเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถด้วยความประมาทมิได้ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งตามสำนวนคดีที่สองเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อความประมาทของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เท่าเทียมกันดังวินิจฉัยแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 3 ควรต้องรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 3 ที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีแรกด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในความประมาทก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 โดยความประมาทนั้นไม่น้อยหรือมากกว่าจำเลยที่ 1 แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ครึ่งหนึ่งของค่าซ่อมรถยนต์จำนวน 57,918.00 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในสำนวนคดีที่สามว่า ตามสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนซึ่งจำเลยที่ 2 จะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ตามสัญญาระบุชัดแจ้งว่า เมื่อรถยนต์เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2 มีสิทธิซ่อมเปลี่ยนหรือใช้รถสภาพเดียวกัน รวมทั้งใช้เป็นเงินแทนตามแต่จะเห็นสมควร หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จัดการซ่อมตามสัญญา กลับเรียกร้องเอาค่าเสียหายสูงเกินกว่าความเป็นจริง การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้จำเลยที่ 2 จัดการซ่อมรถยนต์เป็นการผิดเงื่อนไขตามสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดใดๆสำหรับรถที่รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆจากจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิเลือกดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ก็จะต้องเลือกซ่อมโดยช่างซ่อมที่มีฝีมือด้วย จำเลยที่ 1 นำช่างซ่อมมาดูความเสียหายของรถจำเลยที่ 1 ช่างซ่อมคิดค่าซ่อมเป็นเงิน 99,070.00 บาท ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.23 ส่วนจำเลยที่ 2 ว่าค่าซ่อมที่จำเลยที่ 2 จะนำรถไปซ่อมคิดเป็นเงินเพียง 60,000.00 บาท การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ยอมส่งมอบรถให้จำเลยที่ 2 เพราะยังไม่พอใจว่าช่างซ่อมของจำเลยที่ 2 จะซ่อมรถดีหรือไม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบรถให้จำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาดหรือไม่จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอันจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจำเลยที่ 3 นั้นเห็นว่าการฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 จะถือว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 57,918.00 บาท และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนคดีที่สามเป็นเงิน 86,000.00 บาท สูงเกินไปนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าซ่อมรถทั้งสองรายการเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข สำหรับฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนคดีที่สองที่จำเลยที่ 1 ขับรถประมาทชนรถจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายขับรถประมาทก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อไม่น้อยหรือมากกว่าจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
     พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินครึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน 61,175.88 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีครึ่งหนึ่งของต้นเงินจำนวน 57,918.00 บาทแก่โจทก์ที่ 1 นับจากวันถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนคดีที่สอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์  ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในสำนวนคดีแรกใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000.00 บาทและให้จำเลยในสำนวนคดีที่สามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800.00 บาทแทนโจทก์สำนวนคดีที่สาม ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนคดีที่สองให้เป็นพับทั้งสามศาล" 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 

ผู้พิพากษา
สมศักดิ์ เกิดลาภผล
อำนวย อินทุภูติ
ดำริ ศุภพิโรจน์ 

แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ