แชร์

ขับรถเร็วสูงชนท้ายรถแทรกเตอร์ที่ไม่ติดโคมไฟแดงท้ายรถ ประมาทร่วม

อัพเดทล่าสุด: 6 มิ.ย. 2024
668 ผู้เข้าชม
ขับรถเร็วสูงชนท้ายรถแทรกเตอร์ที่ไม่ติดโคมไฟแดงท้ายรถ ประมาทร่วม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  998/2525 

คำพิพากษาย่อสั้น
     ลูกจ้างขับรถแทรกเตอร์ของจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่จุดโคมไฟแสงแดงที่ท้ายรถและที่ปลายสุดของผาลไถซึ่งยื่นล้ำข้างท้ายของรถ เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถชนกันแต่บุตรโจทก์ก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยคือขับรถตามหลังมาด้วยความเร็วสูง มิได้ใช้ความระมัดระวังพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงทีหากมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าแต่ลูกจ้างจำเลยประมาทมากกว่าจึงให้จำเลยรับผิด 2 ใน 3 ส่วน
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าลูกจ้างจำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ก็วินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว 

คำพิพากษาย่อยาว
     ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นอันยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า นายวุฒิไชยเป็นบุตรของโจทก์ คืนเกิดเหตุนายวุฒิไชยขับรถยนต์ของโจทก์ไปชนกับรถแทรกเตอร์ของจำเลย ซึ่งนายอ้อนหรืออ้วน ลูกจ้างจำเลยขับในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้นายวุฒิไชยถึงแก่ความตาย รถยนต์และรถแทรกเตอร์ได้รับความเสียหาย ชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่ากรณีที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายใด และโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด" ฯลฯ
"ปัญหาที่ว่ารถชนกันเกิดจากความประมาทของฝ่ายใดนั้น ได้ความจากนางสาวธาราทิพย์พยานโจทก์ว่า รถแทรกเตอร์ไม่มีโคมไฟท้ายและไม่มีโคมไฟส่องให้เห็นผาลไถที่ยื่นล้ำออกนอกตัวรถ จ่าสิบตำรวจไพโรจน์ จันทรเจริญ พยานจำเลยผู้รับแจ้งอุบัติเหตุและไปดูที่เกิดเหตุก็ว่ารถแทรกเตอร์ไม่มีโคมไฟท้าย สำหรับผาลไถ จำเลยเบิกความรับว่าอยู่ที่ท้ายรถ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายอ้อนหรืออ้วนขับรถแทรกเตอร์ในเวลากลางคืนโดยไม่จุดโคมไฟแสงแดงที่ท้ายรถและที่ปลายสุดของผาลไถซึ่งยื่นล้ำข้างท้ายของรถเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2477(ฉบับที่ 2) ข้อ 2 และฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2508) ข้อ 1 ก.(3) ที่จำเลยอ้างนายวิเชียร อยู่สุข เป็นพยานเบิกความว่ารถแทรกเตอร์มีโคมไฟท้ายแสงแดงนั้น ปรากฎว่านายวิเชียรพบรถแทรกเตอร์เวลาประมาณ 19 นาฬิกา แต่เกิดเหตุเวลาเกือบ 20 นาฬิกา และก็ไม่ได้ความว่ารถแทรกเตอร์คันนั้นคือรถแทรกเตอร์คันเกิดเหตุ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานดังกล่าวได้ ปัญหาต่อไปมีว่าการที่นายอ้อนหรืออ้วนขับรถในเวลากลางคืนโดยไม่จุดโคมไฟเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถชนกันหรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีพยาน2 ปาก คือนางสาวณัฎฐพรและนางสาวธาราทิพย์ นางสาณัฎฐพรเบิกความว่า ขณะที่พยานกำลังพูดคุยกันอยู่ เห็นรถแทรกเตอร์แล่นอยู่ข้างหน้า พอหันมาอีกครั้งหนึ่งก็เห็นรถแทรกเตอร์ในระยะใกล้ แล้วพยานได้ยินเสียงดังโครมและหมดสติไป นางสาวธาราทิพย์เบิกความว่าเห็นรถแทรกเตอร์แล่นอยู่ตรงเส้นกึ่งกลางถนน ไม่มีโคมไฟท้าย นายวุฒิไชยลดความเร็วลงแล้วให้สัญญาณไฟขอทางรถแทรกเตอร์ไม่เปิดทางให้ นายวุฒิไชยขับแซงซ้ายเพราะว่าง แต่ถูกผาลไถที่ยื่นล้ำออกนอกตัวรถแทรกเตอร์ซึ่งไม่มีโคมไฟส่องให้เห็นเกี่ยวหลังคารถยนต์เสียหลักพุ่งเข้าชนรถแทรกเตอร์ พยานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จ่าสิบตำรวจไพโรจน์ จันทรเจริญ พยานจำเลยก็ว่า เมื่อไม่มีโคมไฟท้ายรถก็อาจเป็นเหตุให้รถชนกัน พิเคราะห์คำเบิกความของพยานดังกล่าวประกอบภาพถ่ายรถยนต์และรถแทรกเตอร์ท้ายคำฟ้องรวม 5 ภาพแล้ว เห็นว่า รถยนต์ของโจทก์เสียหายไม่มีชิ้นดี ซึ่งโจทก์ก็ว่าถึงซ่อมและขายไปก็ได้ราคาไม่คุ้มค่าซ่อม ส่วนรถแทรกเตอร์ถูกชนทำให้ตอนหน้าและตอนหลังขาดหลุดออกจากกัน สำหรับนางสาวณัฎฐพร เบิกความเพียงว่าเห็นรถแทรกเตอร์แล่นอยู่ข้างหน้า พอหันมาอีกครั้งรถก็ชนกันไม่ได้ความว่าพยานเห็นรถแทรกเตอร์ครั้งแรก รถแทรกเตอร์อยู่ห่างจากรถยนต์เป็นระยะทางเท่าใดแต่ได้ความจากนางสาวธาราทิพย์เบิกความคำถามค้านและคำถามติงว่าตอนที่นายวุฒิไชยให้สัญญาณไฟขอทาง รถโจทก์อยู่ห่างจากรถแทรกเตอร์ประมาณ 7 เมตรเศษ และก่อนชนนายวุฒิไชยไม่ได้ห้ามล้อ ศาลฎีกาเชื่อว่านายวุฒิไชยขับรถด้วยความเร็วสูง และเห็นรถแทรกเตอร์ในระยะกระชั้นชิดเพราะรถแทรกเตอร์ไม่มีโคมไฟแสงแดงติดที่ท้ายรถกับที่ปลายสุดของผาลไถ หากมีโคมไฟแสงแดงทีท้ายรถแทรกเตอร์ให้สามารถมองเห็นได้จากด้านหลังในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรตามกฎกระทรวง นายวุฒิไชยก็คงจะหยุดรถได้ทัน ดังนั้นการที่รถชนกันจึงเกิดจากการขับรถโดยไม่จุดโคมไฟของนายอ้อนหรืออ้วนโดยตรง จำเลยต้องร่วมกับนายอ้อนหรืออ้วนรับผิดต่อโจทก์แต่นายวุฒิไชยก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยคือขับรถด้วยความเร็วสูง มิได้ใช้ความระมัดระวังพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันท่วงทีหากมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่านายวุฒิไชยขับรถประมาทฝ่ายเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบความประมาทของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่านายอ้อนหรือนายอ้วนประมาทมากกว่าจึงให้จำเลยรับผิดสองส่วนในสามส่วน
ประเด็นเรื่องความเสียหาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ สำหรับประเด็นข้อนี้มีตัวโจทก์กับนายสุชิน มะเจียกจร ผู้ไปรับศพที่อำเภอศรีราชาเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ว่าจ้างรถไปรับศพเสียค่าจ้าง 2,000 บาท สวดศพ3 คืน มีการจัดอาหารเลี้ยงแขกที่ไปในงานด้วย ค่าใช้จ่ายคืนละประมาณ3,000 บาท และเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000 บาทค่าซ่อมรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นเงิน 35,000 บาท แต่โจทก์ขอมา 23,000 บาท นายวุฒิไชยเป็นบุตรชายคนเดียวของโจทก์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ขณะเกิดเหตุกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โจทก์ขอค่าขาดไร้อุปการะ 200,000 บาท จำเลยมิได้นำสืบคัดค้านเรื่องค่าเสียหายแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควร
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สองส่วนในสามส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด 250,000 บาท คิดเป็นเงิน 166,666 บาท 67 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (15 มีนาคม 2522) จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะ โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาเอง ไม่ได้แต่งตั้งทนายความจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้"
พิพากษายืน 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 

ผู้พิพากษา
อัมพล สุวรรณภักดี
สมบูรณ์ บุญภินนท์
สหัส สิงหวิริยะ 

แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ