แชร์

ผู้รับจ้างไม่อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง

อัพเดทล่าสุด: 29 พ.ค. 2024
143 ผู้เข้าชม

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างไม่อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2510

คำพิพากษาย่อสั้น
     เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแล้วเจ้าของรถยนต์วานให้ช่างซ่อมรถขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ไปเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทาง ดังนี้ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น
    สัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 นั้น ผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง

คำพิพากษาย่อยาว
     โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์บรรทุกได้ให้จำเลยที่ 1 ซ่อมรถ จำเลยที่ 1 รับซ่อม แต่รถเสียเพียงเล็กน้อย จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งที่ถนนผดุงกรุงเกษม จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งแล้วขับกลับ เมื่อถึงสี่แยกโรงเรียนนายร้อย จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ของบุตรผู้เสียหาย ทำให้บุตรผู้เสียหายถึงแก่ความตาย โจทก์ขาดไร้ผู้อุปการะจากผู้ตายคิดค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 2 จนเกิดเหตุ กระทำในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย

ก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนหรือทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นช่างรับซ่อม การรับซ่อมรถไม่ใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 2 เป็นการทดลองรถ จำเลยที่ 2 มิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำรถไปส่งอู่เพื่อซ่อม เงินที่โจทก์เรียกร้องเรียกไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้ขาดอุปการะ ไม่ใช่ผู้ทุพพลภาพ ไม่มีสิทธิฟ้องร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 เพราะการซ่อมรถเป็นการจ้างทำของ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิได้ควบคุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์
     ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา
     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขับรถกลับอู่ จำเลยที่ 2 ไม่ได้นั่งไปด้วย เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยลำพัง จำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบหมายหรือสั่งให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทน จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2
     จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 ซ่อมรถ เป็นการจ้างทำของ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างไม่อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2

พิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797

ผู้พิพากษา
ชิต บุณยประภัศร
ลออง จุลกะเศียน
แถม สิริสาลี

แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ