ขับรถชนรถที่จอดอยู่ข้างทาง ใครเป็นฝ่ายผิด? ใครต้องรับผิดชอบ?
ขับรถชนรถที่จอดอยู่ข้างทาง ใครเป็นฝ่ายผิด? ใครต้องรับผิดชอบ?
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2551
คำพิพากษาย่อสั้น
คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่เกิดเหตุ และให้ความเห็นจากการตรวจที่เกิดเหตุ และแผนที่เกิดเหตุประกอบกันว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของฝ่ายใด มิใช่พยานบอกเล่า รับฟังได้
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหัวลากหมายเลขทะเบียน 73-0520 กรุงเทพมหานครร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 73-0225 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 นายสุทนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนสายฉะเชิงเทรา-บางประกง เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงที่ 7 ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหัวลากหมายเลขทะเบียน 70-4564 ชลบุรี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 82-5769 ชลบุรี ในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปจอดบริเวณไหล่ทางในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นเหตุให้นายสุทนขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนได้รับความเสียหายโจทก์จัดการซ่อมแซมรถยนต์บรรทุกคันที่รับประกันภัย และชำระค่าแรงและค่าอะไหล่ไปเป็นเงิน 737,479 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 771,979 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปจอดบริเวณที่เกิดเหตุไม่กีดขวางการจราจรและเปิดโคมไฟฟ้าส่องสว่าง เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสุทนขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนรถยนต์ของจำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์เสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 ทนายโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่า พันตำรวจตรีมนัสเป็นพนักงานสอบสวนผู้รวบรวมและทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ สอบปากคำร้อยตำรวจเอกสมพรบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร และได้สอบปากคำนายสำเนียงไว้ และทนายจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า ภาพถ่ายจำนวน 2 ภาพ เป็นภาพถ่ายหลังเกิดเหตุ ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารและภาพถ่ายดังกล่าวแล้วปรากฏว่า ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจรนั้น ถนนที่เกิดเหตุเป็นถนนขนาดใหญ่มีทางเดินรถ 4 ช่อง เป็นทางเดินรถไปอำเภอบางปะกง 2 ช่อง ส่วนอีก 2 ช่องเป็นทางเดินรถไปทาง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ละช่องทางกว้างถึง 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางถนนกว้าง 3 เมตร รถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นจอดอยู่ที่บริเวณไหล่ทางของทางเดินรถไปทางอำเภอบางประกง มีเศษวัสดุของรถและเศษกระจกตกอยู่บริเวณท้ายรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ในบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุระบุไว้ในข้อ 9.1 ว่ารถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับจอดอยู่บริเวณไหล่ทางล้อหน้าด้านขวาห่างเส้นขอบทาง 0.32 เมตร ล้อหลังด้านขวาห่าง 0.22 เมตร ล้อหลังด้านขวาตัวพ่วงห่าง 1.15 เมตร ตามบันทึกคำให้การของร้อยตำรวจเอกสมพรระบุว่าวันเกิดเหตุเวลา 05.15 นาฬิกา ได้รับแจ้งเหตุจึงเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุพบเศษกระจกและเศษวัสดุของรถตกอยู่บริเวณมุมตู้คอนเทนเนอร์ด้านขวาสันนิษฐานว่าเป็นจุดชน พบรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้จอดขวางช่องทางเดินรถช่องซ้ายสุดและช่องขวา ล้อหน้าห่างจากเส้นขอบทางด้านเกาะกลางถนนวัดได้ 1.40 เมตร ล้อหลังของตัวพ่วงห่าง 3.50 เมตร ล้อหลังด้านซ้ายห่างขอบทาง 1 เมตร พบนายเฉลาได้รับบาดเจ็บอยู่ตรงหน้ารถด้านซ้าย พยานจึงได้ช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธินำออกจากรถส่งโรงพยาบาล และนายเฉลาถึงแก่ความตายเวลาต่อมา คำให้การของร้อยตำรวจเอกสมพรสอดคล้องกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจรที่ระบุว่าเหตุเกิด เวลา 05.10 นาฬิกา การที่ร้อยตำรวจเอกสมพรไปถึงที่เกิดเหตุขณะนายเฉลาผู้ได้รับบาดเจ็บยังอยู่ในรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แสดงว่าไปถึงในเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่ได้รับแจ้งเหตุ สภาพของรถยนต์บรรทุกของคู่กรณีจึงอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง โจทก์คงมีนายสุทนเบิกความว่า พยานเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันไว้ไปตามถนนที่เกิดเหตุด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่องทางเดินรถด้านซ้าย ขณะถึงบริเวณที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกแล่นแซงขึ้นหน้าด้านขวาพยานจึงขับรถเบียดมาทางไหล่ทางชนกับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับจอดอยู่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างคำเบิกความของนายสุทนเมื่อนำมาพิจารณาประกอบภาพถ่ายรถยนต์บรรทุกรถยนต์บรรทุกที่นายสุทนขับได้รับความเสียหายอย่างมาก โจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงินถึง 737,479.05 บาท หากนายสุทนขับรถด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คงไม่เสียหายมากขนาดนี้ นายสุทนยังเบิกความอีกว่าหากรถบรรทุกน้ำไม่ขับแซงรถของพยาน พยานก็ไม่จำต้องขับหลบไปเฉี่ยวชนรถคู่กรณีที่จอดอยู่บริเวณที่เกิดเหตุเนื่องจากสามารถขับหลบหลีกได้ คำเบิกความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามูลเหตุที่เกิดขึ้นตามข้อกล่าวอ้างของนายสุทนเนื่องจากมีรถบรรทุกน้ำขับแซง แต่เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ กับบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร ซึ่งพนักงานสอบสวนทำขึ้นก็ปรากฏว่า ช่องทางเดินรถแต่ละช่องมีความกว้างถึง 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตรและรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับก็อยู่ในไหล่ทาง ล้อหน้าด้านขวาห่างจากเส้นขอบทาง 0.32 เมตร ล้อหลังด้านขวาห่าง 0.22 เมตร ล้อหลังด้านขวาตัวพ่วงห่าง 1.15 เมตร แม้จะเป็นสภาพตอนเกิดเหตุแล้วแต่ก็ปรากฏหลักฐานพบเศษวัสดุของรถตกอยู่ตรงมุมตู้คอนเทนเนอร์ น่าเชื่อว่าเป็นจุดชนซึ่งอยู่บนไหล่ทาง แสดงว่าจำเลยที่ 1 จอดรถยนต์บรรทุกไว้บนไหล่ทางไม่ได้จอดยื่นล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถดังที่นายสุทนเบิกความเมื่อเกิดเหตุแล้วนายสุทนหลบหนีไม่แจ้งเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบในทันที เมื่อร้อยตำรวจเอกสมพรเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุคงพบแต่จำเลยที่ 1 ตามคำให้การ หากจำเลยที่ 1 ไม่เปิดไฟกะพริบระวังเหตุและวางสิ่งของกีดขวางไว้เป็นสัญญาณดังที่โทรศัพท์แจ้งนายวรวิชกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 ทราบเหตุนายสุทนซึ่งเป็นคู่กรณีกับจำเลยที่ 1 น่าจะดำเนินการให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เพราะมีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีบันทึกการตรวจสภาพความเสียหายของรถที่เกิดเหตุซึ่งนายสำเนียงเป็นผู้ตรวจสภาพและให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่าไฟเลี้ยวหลังขวาของรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 แตกเพราะอุบัติเหตุ ส่วนไฟเลี้ยวหลังซ้ายใช้การได้ ไฟเล็กหรือไฟจอดหลังขวาแตกเนื่องจากอุบัติเหตุ ส่วนไฟเล็กหรือไฟจอดหลังซ้ายใช้การได้ โจทก์คงมีนายสุทนเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เปิดไฟของรถยนต์ไว้โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุนจึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง ประกอบกับในคดีอาญานายสุทนผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ก็ให้การรับสารภาพว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 จนได้รับความเสียหายและมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5140/2551 ของศาลชั้นต้น พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสุทนผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เป็นฝ่ายประมาท ที่โจทก์ฎีกาอีกว่าศาลล่างทั้งสองไม่อาจฟังพยานบอกเล่ามายกฟ้องของโจทก์ได้นั้น ปกติคำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่เกิดเหตุ และให้ความเห็นจากการตรวจที่เกิดเหตุและแผนที่เกิดเหตุประกอบกันว่าเหตุเกิดเพราะความผิดของฝ่ายใดมิใช่พยานบอกเล่า รับฟังได้เมื่อทนายโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 ทนายจำเลยที่ 2 จึงอ้างส่งแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ บันทึกคำให้การของร้อยตำรวจเอกสมพรบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร บันทึกการสอบปากคำนางสำเนียงบันทึกการตรวจสภาพรถและความเสียหาย แทนการสืบพยานบุคคลดังกล่าว ศาลจึงมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวตามคำรับของคู่ความได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95
ผู้พิพากษา
วีระชาติ เอี่ยมประไพ
ชวลิต ตุลยสิงห์
มานัส เหลืองประเสริฐ